แนวโน้มด้านการศึกษาทั่วโลก
—ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คืออะไร
MARCH 29, 2022
By Genki Nakamura
Educational Solution Section
CASIO COMPUTER CO., LTD.
ประวัติความเป็นมาของ ATC21s
ในปี 2009 มีการริเริ่มโครงการ ATC21s (โครงการการประเมินและการสอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21) ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากลที่ประกอบไปด้วยบริษัท สถาบันการศึกษา และองค์กรอีกมากมายจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ นักวิจัยทางการศึกษาชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลกได้ร่วมกันกำหนดทักษะจำนวน 10 ทักษะในด้านต่าง ๆ สี่ด้าน โดยเรียกทักษะเหล่านี้ว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และได้จัดทำข้อมูลเป็นเอกสาร White Paper ในปี 2012
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ตามคำนิยามของ ATC21s
ตั้งแต่มีการเผยแพร่ White Paper ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ก็ถูกนำไปใช้อ้างอิงข้อมูลและได้รับการเผยแพร่ในการปฏิรูปด้านการศึกษาในหลายประเทศ
แต่เหตุผลที่ทำให้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้รับการคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่แรกคืออะไรกันแน่ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้ สิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องทราบก็คือแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการปฏิรูปด้านการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว มิจิโกะ วาตานาเบะ นักสถิติชาวญี่ปุ่น ได้อธิบายโดยสรุปไว้ดังนี้
จากการถือกำเนิดของสังคมฐานความรู้ที่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่และโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาแนวคิด ความรู้ แผนธุรกิจ สารสนเทศ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอย่างแยกจากกันมิได้ ตั้งแต่ช่วงปี 1990 มีการปฏิรูปด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องในประเทศที่มองการณ์ไกลถึงทักษะที่แรงงานควรมีในศตวรรษที่ 21
กล่าวคือ ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมของประเทศพัฒนาแล้วก่อให้เกิดข้อแนะนำพื้นฐานเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของ ATC21s
เหตุใดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จึงมีความสำคัญกับประเทศต่าง ๆ
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กำลังถูกนำไปใช้อ้างอิงข้อมูลในการปฏิรูปการศึกษาในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากทักษะเหล่านี้ได้รับการแนะนำโดยอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์การศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า การส่งเสริมการศึกษาที่พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ (Soft skill) ซึ่งนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ที่จำเป็นในการพัฒนาความรู้ในเชิงรุกโดยการทำงานร่วมกัน แทนที่จะจำกัดไว้แค่เพียงการศึกษาที่พัฒนาทักษะด้านวิชาชีพ (Hard skill) ซึ่งมีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับความรู้ความเข้าใจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เสนอโดย ATC21s หมายถึงทักษะด้านอารมณ์ดังกล่าว และมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจาก "การสอน” ไปสู่ "การเรียนรู้ร่วมกัน” จะช่วยให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์เหล่านี้
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ สังคมได้ให้ความสำคัญกับการสอนทักษะด้านวิชาชีพเป็นอย่างมาก โดยมองว่าเป็นความรู้ที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะด้าน สาระสำคัญของการออกแบบการศึกษาคือการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้และการวัดความสามารถผ่านการทดสอบและวิธีการอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็ค้นหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนที่เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้จำนวนมากที่สุดสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
แม้ว่าทักษะด้านวิชาชีพจะเป็นทักษะที่ต้องมีเป็นอันดับแรกเพื่อใช้ในการทำงานด้านต่าง ๆ และยังคงค่อนข้างมีความจำเป็น แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ออกมาชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน IT ทำให้ระดับการเปลี่ยนแปลงในสังคมมีความรุนแรงขึ้นอย่างมากจนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้คนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากพวกเขาได้รับการเรียนรู้ทักษะด้านวิชาชีพเพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการด้านการศึกษา โทโมอากิ มัตสึโอะ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดไว้ว่า
เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้เกิดรูปแบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งสามารถรองรับความต้องการที่หลากหลายและความสนใจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลาดที่เน้นผู้บริโภครายบุคคลและมีการกระจุกตัวน้อยจึงเข้ามาแทนที่การผลิตสินค้าและการบริโภคจำนวนมากในอดีต เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่แบบจำลองเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและแตกต่างเพื่อตอบสนองความต้องการและความชอบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังที่เราสังเกตเห็นจากการถือกำเนิดของนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น แหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มาในรูปแบบของข้อความจำนวนมากและข้อมูลประวัติการซื้อของลูกค้าบนอินเทอร์เน็ต ตลอดจน AI ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นรายบุคคล การปรากฏของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้าน IT ทำให้ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะด้านอารมณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง
นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การศึกษาชาวญี่ปุ่น ฮิโรยูกิ มาสุคาวะ ได้ทำการเปรียบเทียบบุคคลที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพกับบุคคลที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์โดยพบว่า
บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานคือบุคคลที่สามารถปฏิบัติกิจกรรมบางอย่างได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด บุคคลประเภทนี้ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อบรรลุความสามารถระดับดังกล่าว พวกเขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นมืออาชีพในงานที่ผู้อื่นไม่สามารถทำได้ ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญระดับปรับตัวได้คือบุคคลที่สามารถสร้างความรู้ของพวกเขาขึ้นมาใหม่ ตลอดจนคิดค้นแนวทางแปลกใหม่ในการทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน
แม้ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างบุคคลสองประเภทนี้คือความรู้ บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับสิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แต่สิ่งที่บุคคลเหล่านี้มีเป็นเพียง "รายการ" ความรู้เท่านั้น ในทางกลับกัน บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญระดับปรับตัวได้มีความโดดเด่นด้วยแนวคิดสำคัญ นั่นก็คือ พวกเขามีเครือข่ายความรู้ในเชิงมโนทัศน์ที่พวกเขาสามารถสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยเหตุดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อประสบความสำเร็จในขั้นนี้ ตลอดจนคิดและลงมือทำโดยปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ใหม่ ๆ พวกเขาจึงมีโอกาสบ่มเพาะทัศนคติของความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ
ในการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ สิ่งสำคัญคือนักเรียนจะต้องตั้งคำถามและคิดด้วยตนเองในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนตั้งคำถามซึ่งกันและกัน พิจารณาคำถามร่วมกัน และพยายามค้นหาคำตอบร่วมกัน ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้พวกเขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ของตนเองมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะช่วยนำทางพวกเขาสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
ภาพที่เป็นรูปธรรมของชั้นเรียนที่เน้นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
บริษัทด้าน ICT หลายแห่งได้เข้าร่วมใน ATC21s ตลอดจนประเทศพัฒนาแล้วได้ร่วมกันกำหนดระเบียบวิธีที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์โดยการเชื่อมโยงการแก้ปัญหาที่นักเรียนอายุน้อยต้องเผชิญเข้ากับวิชาสถิติในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาในโรงเรียน และสนับสนุนให้มีการอภิปรายและปรึกษาหารือกัน
ยกตัวอย่างเช่น ชั้นเรียนวิชาสถิติต่อไปนี้อาจถือเป็นตัวอย่างของการศึกษารูปแบบดังกล่าว
ปัญหา
ในเดือนมีนาคมปี 2022 เว็บไซต์หนึ่งได้ทำการสำรวจโดยมีคำถามหนึ่งถามว่า "ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคือเรื่องใดบ้าง” และผลการสำรวจที่ได้ก็ถูกนำมารายงานในข่าว ภาพยนตร์ ก. อยู่ในอันดับที่ 1 ด้วยผลโหวต 31,612 เสียง ถัดมาคือภาพยนตร์ ข. ด้วยผลโหวต 29,847 เสียง และภาพยนตร์ ค. ด้วยผลโหวต 26,532 เสียง
*ชื่อของภาพยนตร์ไม่มีความสำคัญ สมมติว่าภาพยนตร์ ก. เปิดตัวในปี 2021, ภาพยนตร์ ข. เปิดตัวในปี 2011, และภาพยนตร์ ค. เปิดตัวในปี 2010
คำถามที่ 1
นักเรียนเคยดูภาพยนตร์สามเรื่องนี้หรือไม่
มาลงคะแนนกันว่าเพื่อนร่วมชั้นของนักเรียนเคยดูภาพยนตร์เหล่านี้กี่คน
คำถามที่ 2
กลุ่มคนประเภทใดที่เข้ามาทำแบบสำรวจบนเว็บไซต์นี้
การสำรวจนี้มีวิธีดำเนินการอย่างไร
ลองคาดเดาคำตอบ
คำถามที่ 3
ถ้าคนที่อายุมากกว่านักเรียน 10 ปีเข้ามาโหวต นักเรียนคิดว่าภาพยนตร์ ก. จะได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 หรือไม่
โปรดให้เหตุผลตามความคิดของนักเรียน
จากผลการสำรวจความคิดเห็นในคำถามที่ 1 เราสามารถกระตุ้นให้นักเรียนคิดว่าเหตุใดผลโหวตของภาพยนตร์ ข. ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เปิดตัวตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วมีผลโหวตใกล้เคียงกับผลโหวตของภาพยนตร์ ก. มาก ผลลัพธ์ของข้อมูลจะส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถามอย่างหลากหลายในกลุ่มนักเรียน เช่น กลุ่มคนที่เข้ามาตอบแบบสำรวจบนเว็บไซต์มีอายุเท่าไร ภาพยนตร์เปิดตัวเมื่อใด มีการฉายภาพยนตร์ซ้ำทางทีวีหรือทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่
นอกจากนี้ ในคำถามที่ 2 และคำถามที่ 3 เรายังสามารถกระตุ้นให้มีการอภิปรายระหว่างนักเรียนด้วยคำถามอย่างเช่น แบบสำรวจอนุญาตให้มีการตอบแบบอิสระหรือให้ผู้ตอบเลือกตอบจากรายการตัวเลือก นักเรียนคิดว่าผู้ตอบอาจเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความเอนเอียงเมื่อเทียบกับประชากรหรือไม่ หรือเราควรทำอย่างไรหากต้องการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีความเอนเอียง
นอกจากนี้ คำถามต่อไปนี้ยังช่วยให้นักเรียนคิดในเชิงรุกและทำงานร่วมกันมากขึ้น
(1) นักเรียนเคยเห็นบทความหรือโฆษณาซึ่งเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นตัวแทนของประชากรหรือไม่
(2) สิ่งใดที่อาจทำให้บุคคลเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด
(3) เราจะทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าการสำรวจเป็นไปอย่างมีเหตุผล
…
แทนที่จะปล่อยให้นักเรียนเป็นฝ่ายรับความรู้เพียงอย่างเดียวซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกว่าความรู้นั้นไม่มีความหมายอะไรกับพวกเขาเลย การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ถามคำถามที่พวกเขาคุ้นเคยและสนใจเป็นพิเศษ ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดเพื่อพยายามหาคำตอบของคำถามเหล่านั้นร่วมกับเพื่อนนักเรียน ตลอดจนสร้างคำถามใหม่ ๆ ในกระบวนการเรียนรู้ จะช่วยให้พวกเขาตระหนักได้ว่าการเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้นั้นมีความสำคัญมากเพียงใด การสร้างความรู้ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของตนเองได้
การอ้างอิงและเอกสารอ้างอิง
เว็บไซต์ ATC21s http://www.atc21s.org/ (เข้าถึงเมื่อ 24 มีนาคม 2022)
Tomoaki Matsuo. (2017). Competencies of the 21st Century and National Curriculum Reforms around the World and Japan. National Institute for Educational Policy Bulletin, ฉบับที่ 146, 9–22. (ภาษาญี่ปุ่น)
Michiko Watanabe (2013). A New Framework of Statistics Education in Knowledge-based Society: Statistical Thinking through Scientific Inquiry, Problem Solving and Decision Making (Special Topic: The JSS Prize Lecture.) Journal of the Japan Statistical Society, 42(2), หน้า 253–271. (ภาษาญี่ปุ่น)
Hiroyuki Masukawa (2016). How to develop 21st Century Competencies. Comprehensive studies of education: Journal of Japan Professional School of Education (9), หน้า 1–20. (ภาษาญี่ปุ่น)
Shinichiro Matsumoto (2017). "The Critical Thinking in Statistics Teaching of Mathematics Education." Proceedings of the Annual Meeting of the Japan Society for Science Education 41(0), 167–170. (ภาษาญี่ปุ่น)